Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

BAM โชว์กำไรต่อเนื่อง กลุ่มหุ้นปันผลสูง ดึง พรรณี - แมนพงศ์ เสริมทัพกรรมการ

BAM โชว์กำไรต่อเนื่อง กลุ่มหุ้นปันผลสูง ดึง พรรณี - แมนพงศ์ เสริมทัพกรรมการ
1
เขียนโดย intrend online 2025-04-25

​BAM ผู้นำธุรกิจ AMC ประกาศเสริมทัพ ดึง พรรณี วรวุฒิจงสถิต และ แมนพงศ์ เสนาณรงค์เสริมทัพกรรมการ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน เผย BAM โดดเด่นในกลุ่มหุ้นปันผลสูง (SET High Dividend 30) มั่นใจสามารถสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องแม้ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน พร้อมเคียงข้างระบบสถาบันการเงินเดินหน้าแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยการช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจปกติ และฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยบริหารจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายอย่างมีประสิทธิภาพ

​ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568ได้มีการประกาศผลประกอบการของ BAM ปี 2567 ว่ามีกำไรสุทธิ 1,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2566 และเตรียมจ่ายเงินปันผล 0.35 บาทต่อหุ้น ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติแต่งตั้ง นางพรรณี วรวุฒิจงสถิต ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2568 โดยนางพรรณี วรวุฒิจงสถิต สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท บัญชีมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิชาเอกการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบัญชีหรือการเงิน ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือในการสอบทานงบการเงินของ BAM ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังมีมติแต่งตั้ง นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการกำกับความเสี่ยง กรรมการกำกับกิจการเพื่อความยั่งยืน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2568 โดย นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท MBA ด้าน Finance and Quantitative จาก Cleveland State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอดีตรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีประสบการณ์การทำงานด้านการบริหารวาณิชธนกิจ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินให้กับบริษัทเอกชน และสถาบันการเงิน

​สำหรับการแต่งตั้งกรรมการครั้งนี้ นับว่าเป็นการเสริมทัพ BAM ให้มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีคุณวุฒิและมีประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานในระดับผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ ถือเป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการและต่อยอดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ขององค์กร พร้อมทั้งเสริมศักยภาพให้ BAM มีความพร้อมในการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง

​ดร.รักษ์ฯ กล่าวอีกว่า BAM พร้อมเดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แม้ต้องเผชิญหน้าความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ สงครามการค้าโลกยุคใหม่ (Trade War 2.0) และแนวนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุคใหม่ (Trump 2.0) โดย BAM ยังคงยืนยันนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งถือได้ว่า BAM เป็นหลักทรัพย์ที่โดดเด่นอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลสูง SETHD (SET High Dividend 30) พร้อมทั้งตอกย้ำบทบาทการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ให้โอกาสลูกหนี้ NPLs ในการได้หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินกลับคืนไปด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน และมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายใหญ่ รายกลาง ให้สามารถฟื้นฟูกิจการหรือสถานะทางการเงินของตน โดยปรับโครงสร้างหนี้และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

​ขณะที่การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายหรือ NPAs นั้น BAM ได้มีการแบ่งกลุ่มทรัพย์ ประเภทบ้าน ที่ดิน คอนโด และทรัพย์เพื่อการลงทุนนำเสนอลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมาย (Target Segment) ด้วยช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หลากหลาย พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developers) ในการปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย หรือสถาบันการเงินที่จะมาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้และลูกค้าซื้อทรัพย์ของ BAM

​ดร.รักษ์ฯ กล่าวโดยสรุปว่าการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกถือได้ว่าครอบคลุมมิติสำคัญทางธุรกิจของ BAM อีกทั้งการเสริมทัพคณะกรรมการด้วยการดึงผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวิสัยทัศน์ และประสบการณ์ในการกำกับดูแลกิจการสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้ BAM สามารถก้าวไปข้างหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมผู้บริหารและพนักงาน BAM ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้ง NPLs และ NPAs อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยให้ BAM ยืนหยัดได้ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง แต่ยังแปรเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในการลงทุนได้ ด้วยการนำทรัพย์สินเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ BAM ในฐานะผู้นำธุรกิจ AMC ที่จะช่วยพลิกฟื้นสินทรัพย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน