Breaking News

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยในช่วงครึ่งแรกปี 2568 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยติดลบ 5% (YoY) โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหดตัวสูงถึง 12% (YoY) ...ไปข้างหน้า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย มีปัจจัยลบมากขึ้น ทำให้ทั้งปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเสี่ยงสูงที่จะต่ำกว่า 34.5 ล้านคน (คาดการณ์เมื่อ เดือน พ.ค. 2568)  KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า

SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า
1
เขียนโดย Intrend online 2025-07-02

SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่การเมืองไทย และภาษีนำเข้าของทรัมป์ อาจทำให้บาทอ่อนค่าในบางช่วง


กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าจากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ แต่แข็งค่าได้จากปัจจัยต่างประเทศที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าส่งออกจึงอาจทยอยขายดอลลาร์ได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ SCB FM ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในปลายสัปดาห์นี้ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด อาจทำให้บาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าผู้นำเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐได้


นายแพททริก ปูเลีย รองผู้จัดการใหญ่ Head of Financial Markets Function และ Head of Private Banking Relationship Management ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาผันผวนขึ้น โดยมีช่วงที่อ่อนค่าขึ้นแรงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ทั้งเรื่องการปรับ ครม. และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดี บาทยังได้รับปัจจัยหนุนด้านแข็งค่า ทั้งจากอิหร่าน-อิสราเอลตกลงหยุดยิง และสหรัฐฯ-จีนทำข้อตกลงทางการค้าสำเร็จ นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดมองว่า Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทำระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น


ช่วงที่การเมืองไทยมีประเด็นร้อนแรง (เช่น คลิปเสียงการสนทนาของนายกฯ กับสมเด็จฮุน เซน) เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนได้ว่าความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยส่งผลต่อมุมมองของนักลงทุนโลกมาก และทำให้เงินไหลออกจากตลาดบอนด์ไทยมากกว่าปัจจัยต่างประเทศอีกด้วย เช่น ในช่วงที่สงครามอิหร่าน-อิสราเอลปะทุรุนแรง กลับพบว่าเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่าไม่มากเท่าช่วงที่มีข่าวการเมืองไทย


ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า มองว่าประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง และแนวโน้มที่ทรัมป์จะประกาศขึ้นภาษีนำเข้าต่อไทย อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นได้ มองกรอบที่ราว 32.50-33.00 โดยล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้บาทอ่อนค่า ลูกค้าอาจทยอยขายเงินดอลลาร์สหรัฐได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมองว่ามีโอกาสสูงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่า 20% เพราะไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้าส่งออกของจีนได้ อีกทั้ง การที่ทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีจากญี่ปุ่นถึง 25% ก็สะท้อนว่าไทยมีโอกาสถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงเช่นกัน จึงอาจทำให้บาทอ่อนค่าได้อีก ทั้งนี้ แรงกดดันจากดอลลาร์อ่อนค่าอาจทำให้บาทไม่อ่อนค่ามากนัก จึงเป็นสาเหตุที่ให้กรอบ USDTHB ที่ไม่สูงนัก  ในระหว่างที่สหรัฐฯ ยังไม่ประกาศอัตราภาษีใหม่ที่จะเรียกเก็บจากไทย อาจเห็นบาทมี Correction กลับมาแข็งค่าได้ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง หากเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแย่ลง อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อ กดดันบาทกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นจังหวะให้ลูกค้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐได้


สำหรับในระยะกลางถึงยาวมองว่า บาทอาจแข็งค่าต่อได้ เพราะวัฏจักรเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บาทแข็งค่าในปีนี้ โดยเงินทุนมีแนวโน้มไหลเข้ายุโรปและเอเชีย เพราะนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางเอเชียมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ และการที่เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินยูโรก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามมุมมองของนักลงทุนโลกต่อมาตรการด้านการคลังในยุโรป และแนวโน้มวัฏจักรการลดดอกเบี้ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ใกล้จบลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรปจะไม่ลดลงมาก จึงหนุนเงินยูโรได้ ดังนั้น ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐจึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อได้ ทำให้เทรนด์การแข็งค่าของเงินบาทจะยังดำเนินต่อในปีนี้ โดยมองกรอบเงินบาท ณ ปลายปีที่ราว 31.50-32.50

 


นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดมอง กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยตลาดมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่แย่ลงหลังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศ โดยล่าสุดมองว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ลงไปที่ 1.50% และลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งไปที่ 1.25% ช่วงปลายปีนี้ สำหรับมุมมองอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย มองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี มีแนวโน้มลดลงต่อได้ตามการลดดอกเบี้ยของ กนง. ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีแนวโน้มลดลงน้อยกว่า จาก Premium ที่มาจาก Global yields ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อโลกได้ปรับลดลง หลังสงครามอิสราเอล-อิหร่านจบเร็ว ทำให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาลดลงตามปัจจัยด้านอุปทาน ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสูงต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจึงลดลงด้วย