Breaking News

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดประชุม FOMC วันที่ 29-30 ก.ค. 2568 เฟดคงดอกเบี้ยต่อเนื่อง รอดูผลกระทบหลัง Reciprocal Tariffs บังคับใช้ 1 ส.ค. 2568 ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 5 จากทั้งหมด 8 รอบในปีนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 4.25-4.50% *** ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกเร็วสุดในเดือนกันยายน 2568 และอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังการบังคับใช้ภาษีฯ 1 ส.ค. 68  KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

Krungthai CIO เปิดกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ชูหุ้นเทคฯ ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลี เด่น

Krungthai CIO เปิดกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ชูหุ้นเทคฯ ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลี เด่น
1
เขียนโดย Intrend online 2025-07-24

Krungthai CIO เปิดกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง ชูหุ้นเทคฯ ญี่ปุ่น-จีน-เกาหลี เด่น แนะล็อกผลตอบแทนตราสารหนี้ก่อนเฟดลดดอกเบี้ย

 

Krungthai CIO ประเมินแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังปี 2025 ยังเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าโลก กดดันเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ยังมีข้อจำกัดด้านการคลัง แนะนักลงทุนวางแผนกระจายพอร์ต เพื่อรับมือความเสี่ยง พร้อมมองหาโอกาสจากหุ้นเทคโนโลยี ในตลาดจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้

 

ทีมกลยุทธ์การลงทุน ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Chief Investment Office หรือ Krungthai CIO) คาดการณ์ว่า GDP ของสหรัฐฯ ในปี 2025 จะขยายตัวเพียง 1.6% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 2.3% เมื่อต้นปี แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ หรือ 'Big, Beautiful Bill' ที่ออกแบบมา เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมีข้อจำกัดด้านวินัยการคลัง และหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3–4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

 

ทางด้าน ฝั่งยุโรป คาด GDP ขยายตัวประมาณ 1.0% และได้รับแรงหนุนจากนโยบายการคลังเชิงรุกของเยอรมนี โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5 แสนล้านยูโร รวมถึงการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 8 ครั้งติดต่อกัน แต่คาดว่า วัฏจักรการลดดอกเบี้ยนี้กำลังเข้าสู่ช่วงสิ้นสุด

 

ด้านเอเชีย เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาด GDP ขยายตัวราว 1.2% จากแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและค่าจ้างแท้จริง (Real wage) ที่ยังคงติดลบ และ เศรษฐกิจจีน คาดขยายตัวได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 5% แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากสงครามการค้าและแรงกดดันด้านเงินฝืด โดยมองว่า ทางการจีนพร้อมที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในด้านนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโต

 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน Krungthai CIO แนะปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ “Neutral” จากเดิมที่ “Slightly Overweight” ในช่วงต้นปี เนื่องจากตลาดหุ้นโลกได้ปรับตัวขึ้น ทำจุดสูงสุดใหม่ และสะท้อนปัจจัยบวกไปพอสมควรแล้ว ขณะที่ความไม่แน่นอนด้านนโยบายยังคงมีอยู่ในระดับสูง

 

ทั้งนี้ แนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการกระจายพอร์ต (Diversification) เพื่อบริหารความเสี่ยง พร้อมมองเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น จีน และเกาหลี รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งจากกระแสการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งจะยังหนุนผลประกอบการในระยะยาว

 

ทางด้านของตราสารหนี้ มองว่า อัตราผลตอบแทนตั้งต้นที่ระดับสูง เป็นจังหวะที่ดีในการล็อกผลตอบแทนระยะยาว ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี                                        

 

สำหรับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ คาดว่า ราคาน้ำมันจะเคลื่อนไหวในกรอบ 65–80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์โลกที่ทยอยฟื้นตัว ส่วนการลงทุนในทองคำ มีมุมมองระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ปรับขึ้นมาพอสมควรแล้วในช่วงครึ่งปีแรกและความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่เริ่มคลี่คลายลง

 

Krungthai CIO แนะนำให้นักลงทุนวางแผนกลยุทธ์ลงทุนอย่างรอบคอบ กระจายพอร์ตให้เหมาะสมกับภาวะตลาด เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อย่างยั่งยืน