Breaking News

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยในช่วงครึ่งแรกปี 2568 ชาวต่างชาติเที่ยวไทยติดลบ 5% (YoY) โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหดตัวสูงถึง 12% (YoY) ...ไปข้างหน้า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย มีปัจจัยลบมากขึ้น ทำให้ทั้งปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยเสี่ยงสูงที่จะต่ำกว่า 34.5 ล้านคน (คาดการณ์เมื่อ เดือน พ.ค. 2568)  KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ

OR และ GC จับมือขับเคลื่อนโครงการ'บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ'

OR และ GC จับมือขับเคลื่อนโครงการ'บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ'
1
เขียนโดย Intrend online 2024-05-24

สานพลังร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน

OR และ GC รวมกับชุมชนบางน้ำผึ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำร่องโมเดลการจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบยั่งยืน ณ วัดบางน้ำผึ้งนอก จ.สมุทรปราการ โดยร่วมกันเก็บขยะ คัดแยกพลาสติกใช้แล้วออกจากขยะทั่วไป และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลภายใต้ “GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” สร้างผลิตภัณฑ์ Upcycling เพิ่มมูลค่า พร้อมส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และเป็นต้นแบบขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ แก้ปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลออกสู่ทะเลอย่างยั่งยืน

 


วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ นางสาวชลาทิพ จันทร์ชมภู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ร่วมพิธีเปิดโครงการ "บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ" ที่วัดบางน้ำผึ้งนอก จ.สมุทรปราการ ต่อยอดจากความร่วมมือ ภายใต้การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งริเริ่มโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย GC, OR, เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา จะร่วมมือกันจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยทั้ง 2 บริษัทได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมบริหารจัดการขยะทะเลในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณขยะลอยน้ำมากที่สุดตามการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้คัดเลือกพื้นที่บริเวณวัดบางน้ำผึ้งนอก ชุมชนบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ เป็นพื้นที่โครงการต้นแบบในการรณรงค์ให้ชุมชนหรือคนในพื้นที่ช่วยกันจัดเก็บขยะที่อยู่ในน้ำเพื่อนำขึ้นไปจัดการอย่างถูกวิธี เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มักพบปัญหาขยะริมตลิ่งจำนวนมากอันอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ กิจกรรมในวันนี้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทะเลและเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกที่จะมาถึงในวันที่ 5 มิถุนายน และวันทะเลโลกที่จะมาถึงในวันที่ 8 มิถุนายนนี้อีกด้วย



นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR ดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยตระหนักถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างมาก และได้กำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณขยะจากการดำเนินธุรกิจลง 1 ใน 3 ภายในปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะผ่านโครงการ แยก แลก ยิ้ม สำหรับการจัดการกับปัญหาขยะทะเลนั้น OR ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะและจัดการขยะตั้งแต่ก่อนที่จะลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ชุมชนริมน้ำ เพื่อลดปริมาณขยะ และส่งเสริมการคัดแยกและจัดการอย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ โดยพื้นที่วัดบางน้ำผึ้งนอก ชุมชนบางน้ำผึ้ง นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานด้าน CSR ของคลังปิโตรเลียมบางจากของ OR ซึ่งจะสามารถต่อยอดการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกด้วย





การจัดโครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ" ประกอบด้วยกิจกรรมลงเรือเก็บขยะในแม่น้ำ กิจกรรมเก็บขยะบริเวณริมตลิ่ง กิจกรรมคัดแยกและชั่งน้ำหนักปริมาณขยะ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการคัดแยกขยะ โดยขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว ส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ให้จะถูกส่งต่อให้กับ อบต.บางน้ำผึ้งไปบริหารจัดการอย่างถูกต้อง และส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักคิดด้านเศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านการจัดการของเสียของ OR (3R Waste Strategy) ได้แก่ Reborn Waste to Value ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรวบรวมของเสีย และขยายผลนำของเสียเหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่อีกครั้ง

ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า GC ในฐานะผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสมดุล ESG มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ได้นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติร่วมกับภาคสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทย ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม’ โดยความร่วมมือกับ OR ในโครงการ "บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้ำ" ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจัดการขยะในแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งอาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยพลาสติกใช้แล้วที่ได้รับการคัดแยกจากกิจกรรมเก็บขยะในครั้งนี้ จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลผ่าน GC YOUเทิร์น เพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อไป”

โครงการ “บอกรักษ์เจ้าพระยา บอกลาขยะแม่น้า” จะเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเล ช่วยผลักดันและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการรับรู้ด้านการคัดแยกและบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงเป็นการขยายผลความร่วมมือภาคปฏิบัติของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน อันจะช่วยสังคมได้เห็นถึงประโยชน์ของการคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว ซึ่งหากเราทุกคนแยกและทิ้ง อย่างถูกวิธี พลาสติกจะสามารถกลับ กลับมาสร้างประโยชน์ และยังถือเป็นการช่วยลดเส้นทางขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเลร่วมกัน อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ OR และ GC ยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการไปยังชุมชนข้างเคียงหรือพื้นที่วิกฤตบริเวณอื่น ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้และร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะร่วมกับชุมชน รวมถึงพัฒนาอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการจัดเก็บขยะจากลำน้ำ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการขยะในทะเลบริเวณปากแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป