Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

ประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ค. คาดเฟดคงดอกเบี้ย

ประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ค. คาดเฟดคงดอกเบี้ย
1
เขียนโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2025-05-02

ประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ค. คาดเฟดคงดอกเบี้ย เพื่อรอดูผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่ยังไม่แน่นอนสูง

 ในการประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ค. ซึ่งเป็นรอบที่ 3 จากทั้งหมด 8 รอบในปีนี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ระดับ 4.25-4.50% เนื่องจาก

- เฟดคงรอดูผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้า โดยมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงหลังจากมีการชะลอการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน ขณะที่การปรับขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนถึง 145% มีโอกาสปรับลดลงได้บ้างหลังสหรัฐฯ และจีนมีท่าทีพร้อมเจรจา 

- แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีโอกาสเร่งสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น แม้เงินเฟ้อเดือนมี.ค. 2568 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับลงลงมาอยู่ที่ 2.4% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานวัดจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.3% และ 2.6% ตามลำดับ 

- ตลาดแรงงานชะลอลง แต่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. 2568 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจาก 4.1% ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ 20-26 เม.ย. 2568 เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสองเดือนที่ 241,000 ราย แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังไม่น่ากังวล อย่างไรก็ดี คาดว่าตัวเลขตลาดแรงงานในระยะข้างหน้าคงจะเห็นผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นของการปรับขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal tariffs) หลังการชะลอการปรับขึ้นภาษีฯ สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 1/ 2568 ที่ออกมาเบื้องต้นหดตัวที่ -0.3% (Annualized %QoQ, s.a.) เนื่องจากการนำเข้าเร่งสูงขึ้นอย่างมากก่อนมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจะมีผล ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical recession) ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้ามีความรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ตลาดแรงงานมีความเสี่ยงที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนสูงและคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมา ประกอบกับการประเมินความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ