Breaking News

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทิศทางเศรษฐกิจไทย 2568 เสี่ยงหลายปัจจัยลบ ทำภาคการผลิตหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 คาดแรงส่งจากการท่องเที่ยวช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้แบบจำกัด ขณะที่ ยังคงประมาณการจีดีพีปี 2568 เติบโตที่ 2.4% *** KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2025 มีแนวโน้มโตได้ช้าลงกว่าที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.3% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาด ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอาจลงไปต่ำสุดที่ 1.25% ในปี 2026  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ที่ 2.6% เล็กน้อย GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวที่ 3.2% YoY น้อยกว่าที่คาด หลักๆ เป็นผลจากสินค้าคงคลังที่หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามากกว่าที่คาด จากความความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและการส่งออกที่ต่ำกว่าที่ประเมิน โดยแม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในหลายสินค้า แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังแทบจะไม่ขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวต่ำ ทั้งเป็นผลจากการปรับฐานในไตรมาส 4/2566 ให้สูงขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้อัตราการขยายตัวในไตรมาส 4/2567 ต่ำกว่าที่คาดไว้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยการส่งออกไทยในเดือน ธ.ค. 2567 ขยายตัว 8.7%YoY ส่งผลให้ทั้งปีขยายตัวได้ 5.4% โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ จากการเร่งส่งออกสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ • ในปี 2568 การส่งออกไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าปี 2567 ที่ 2.5% โดยครึ่งปีแรกยังมีแรงหนุนจากการเร่งนำเข้าสินค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2567 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.23% YoY สูงสุดในรอบ 7 เดือน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค. 2567 อยู่ที่ 0.79% YoY โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากราคาพลังงานอย่างค่าไฟฟ้าและราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ปรับสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำในเดือน ธ.ค. 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของทางภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มบางรายการปรับตัวสูงขึ้น

ซิตี้ปรับลดจีดีพีไทยปี 68 จาก 3.0% เหลือ 2.2% ท่ามกลางสงครามการค้า

ซิตี้ปรับลดจีดีพีไทยปี 68 จาก 3.0% เหลือ 2.2% ท่ามกลางสงครามการค้า
1
เขียนโดย Intrend online 2025-05-08

ซิตี้ปรับลดจีดีพีไทยปี 68 จาก 3.0% เหลือ 2.2% ท่ามกลางสงครามการค้า ด้านท่องเที่ยวยังโตแม้นักท่องเที่ยวจีนลด พร้อมเล็งกนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนตุลาคม

กรุงเทพฯ 8 พฤษภาคม 2568 – ซิตี้ รีเสิร์ช (Citi Research) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีประเทศไทยในปี 2568 จาก 3.0% เหลือ 2.2% หลังภาคการส่งออกและภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การค้าโลกผันผวน รวมถึงหลายโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(สกท.) อาจล่าช้าจากสถานการณ์ล่าสุด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแรงจากหนี้ครัวเรือนแม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงหลายครัวเรือนที่ต้องซ่อมแซมความเสียหายจากแผ่นดินไหว ทำให้กำลังการใช้จ่ายลดลง ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงมั่นคงด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเสี่ยงขาลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ซิตี้คาดว่าธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2568 เหลือ 1.50% เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายใต้ภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำ

 

 

นายทาริก อาเหม็ด ข่าน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการขายและโซลูชันภาคองค์กรประจำประเทศไทยและเวียดนาม ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย กล่าวว่า “ซิตี้ รีเสิร์ช ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีประเทศไทย ปี 2568 เหลือ 2.2% และคาดการณ์จีดีพีปี 2569 เหลือ 2.0% จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาและมาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ที่คาดว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลกและการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ไทยในอัตรา 36% แม้จะมีการชะลอขึ้นภาษี 90 วัน สร้างความไม่แน่นอนว่าไทยจะยังคงได้รับประโยชน์จากการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ซิตี้จึงปรับลดคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากหลายโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในปี 2566-2567 อาจเกิดการล่าช้า”

 

 

ด้านการบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแอจากระดับหนี้ครัวเรือนสูง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Digital Wallet และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วงต้นปี 2568 โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางถึงสูงยังคงพยุงการใช้จ่ายผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา แต่เริ่มชะลอตัวลงด้วยผลกระทบด้านลบต่อความมั่งคั่ง (negative wealth effect) จากความผันผวนของตลาดหุ้น รวมถึงครัวเรือนบางส่วนอาจมีภาระการเงินเพิ่มขึ้นจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยซิตี้ยังคงคาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน และเพิ่มเป็น 43 ล้านคนในปี 2569 แต่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัยในประเทศไทย

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงได้รับการสนับสนุน แต่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ยังมีข้อจำกัด หากรัฐบาลไม่ยกเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพี จึงคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในปี 2568 จากงบประมาณเหลือจ่ายจากปีก่อนหน้า รวมถึงมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดเล็กเพิ่มเติม และจากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซิตี้ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2568 เหลือ 0.6% และอัตราเงินเฟ้อปี 2569 ที่ 1.2% โดยมีความเสี่ยงขาลงจากการลดลงของราคาสินค้าและพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และสินค้านำเข้าจากประเทศจีน

“ซิตี้ รีเสิร์ช คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2568 เหลือ 1.50% ทำให้นโยบายการเงินผ่อนคลายลงเล็กน้อย และอาจลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งช่วงต้นปี 2569 แต่แนวโน้มที่ธปท. จะใช้ค่าเงินบาทที่อ่อนลงเป็นกลไกดูดซับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกอาจเผชิญความท้าทาย จากการที่ไทยยังไม่สามารถนำดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาใช้หมุนเวียนภายในประเทศได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจถูกจับตามองจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ว่ามีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน" นายทาริก กล่าวสรุป